จากเขา ๑

Calamus castaneus Griff.

ชื่ออื่น ๆ
จากจำ, หวายจากเขา (นราธิวาส)
ปาล์มในกลุ่มหวาย ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย ขึ้นเดี่ยวหรือแตกกอได้ถึง ๕ ต้น ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายลำต้น กาบใบและก้านใบสีเขียวคล้ำ มีขนสีน้ำตาลเทา มีหนามรูปสามเหลี่ยมแบนสีน้ำตาลเทาเข้มหรือสีดำ โคนหนามสีเหลือง หนามเรียงกระจายหรือเรียงตัวเป็นแถวแนวขวางหรือแนวเฉียง มีใบย่อย ๖๐-๑๒๐ ใบ เรียงสลับ รูปแถบยาว ปลายแกนกลางใบไม่มีมือเกาะ มีหนามแข็งตามเส้นใบและขอบใบ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกกาบใบ ตั้งแข็งและแผ่กว้าง ดอกสีชมพูถึงสีแดงเข้มผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน เมล็ดมีเนื้อนุ่มหุ้ม

จากเขาชนิดนี้เป็นปาล์มในกลุ่มหวาย ลำต้นตั้งตรงหรือทอดเลื้อย ยาวได้ถึง ๑.๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้นไม่รวมกาบ ๖-๘ ซม. ปล้องยาวประมาณ ๓ ซม. สีเขียวถึงสีน้ำตาล ขึ้นเดี่ยวหรือแตกกอได้ถึง ๕ ต้น

 ใบประกอบแบบขนนก ตั้งชูขึ้น เรียงเวียนเป็นกระจุกที่ปลายลำต้น แต่ละต้นมีใบประมาณ ๑๐ ใบ กาบใบและก้านใบสีเขียวคล้ำ มีขนสีน้ำตาลเทา มีหนามรูปสามเหลี่ยมแบน สีน้ำตาลเทาเข้มหรือสีดำ โคนหนามสีเหลือง หนามเรียงกระจายหรือเรียงตัวเป็นแถวแนวขวางหรือแนวเฉียง ยาว ๐.๒-๖ ซม. กาบใบยาว ๓๐-๖๐ ซม. ไม่มีเรียวหนามซึ่งเกิดจากปลายสุดของแกนกลางใบประกอบที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว และไม่มีรอยต่อที่ชัดเจนระหว่างก้านใบกับกาบใบ ลิ้นใบเห็นชัดเจน มีหนาม ก้านใบยาวได้ถึง ๒.๕ ม. ด้านบนนูนหรือแบนไม่เป็นร่อง แกนกลางใบยาวได้ถึง ๔.๕ ม. ปลายแกนกลางใบไม่มีมือเกาะ มีใบย่อย ๖๐-๑๒๐ ใบ เรียงสลับรูปแถบยาว กว้าง ๓-๕ ซม. ยาวได้ถึง ๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเชื่อมติดกับแกนกลางใบ ขอบเรียบและมีหนามแข็งประปราย ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมันเงาด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนสีเทาคล้ำ เส้นโคนใบ ๓ เส้น มีหนามแข็งประปรายตามเส้นใบ ไม่มีก้านใบย่อยดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกกาบใบ ยาว ๐.๕-๑ ม. ตั้งแข็งและแผ่กว้างช่อดอกเพศผู้โปร่ง แยกแขนงมากกว่า ๑๕ ครั้ง แขนงแต่ละข้างยาวได้ถึง ๔๕ ซม. ช่อดอกย่อยชั้นที่ ๒ มีได้ถึง ๑๒ ช่อในแต่ละข้าง แกนช่อย่อยยาว ๑๕-๒๕ ซม.ใบประดับสีชมพูถึงแดงเข้ม ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันรูปคล้ายถ้วย ปลายมักหยักเป็น ๓ หยัก กลีบดอก ๓ กลีบ เกสรเพศผู้ ๖ เกสร มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันขนาดเล็กมาก ช่อดอกเพศเมียแยกแขนงประมาณ ๑๕ ครั้ง มีใบประดับซ้อนแน่น สีชมพูถึงสีแดงสดในดอกตูม สีจะจางลงเมื่อดอกบาน ติดทนและยาวขึ้นเมื่อเป็นผล มีดอกเพศเมียปะปนกับดอกเพศผู้ที่เป็นหมัน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันรูปคล้ายถ้วย ปลายหยักตื้น ๓ หยัก กลีบดอก ๓ กลีบ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๖ เกสร เชื่อมติดกันคล้ายถ้วย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ยอด ลักษณะเป็นแผ่นบางโค้งออก

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๘ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. ปลายผลมีติ่งแหลม มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม เรียงตัวตามยาว ๑๘-๒๗ แถว ปลายเกล็ดชี้ไปทางขั้วผล เมล็ดมีเนื้อนุ่มหุ้ม

 จากเขาชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบชื้นใกล้ลำธารจนถึงที่ลาดชันที่ดินมีการระบายน้ำดี ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ยังไม่มีข้อมูลการออกดอกในประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซียและตอนเหนือของเกาะสุมาตรา

 ประโยชน์ ลำต้นใช้ทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ ใบใช้มุงหลังคา ผลดิบชาวพื้นเมืองในประเทศมาเลเซียใช้ทำยาแก้ไอ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จากเขา ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calamus castaneus Griff.
ชื่อสกุล
Calamus
คำระบุชนิด
castaneus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1810-1845)
ชื่ออื่น ๆ
จากจำ, หวายจากเขา (นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายมานพ ผู้พัฒน์